1. ประวัติความเป็นมา

                             คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นหน่วยงานระดับคณะในมหาวิทยาลัย     ราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยเริ่มจากการก่อตั้งวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานีซึ่งตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2519) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2516 เป็น 1 ใน 7 แห่งของวิทยาลัยครูที่ตั้งขึ้นใหม่ สังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการในโครงการเงินกู้ของธนาคารโลก จำนวน 54 ล้านบาท ดำเนินการจัดตั้งเป็นโครงการระยะ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2519 โดยมีพัฒนาการมาโดยลำดับ

                             พุทธศักราช 2519 เริ่มใช้ชื่อคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เหมือนกับคณะวิชาอื่น ๆ ของวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบและดำเนินการสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)

                             พุทธศักราช 2521 เปิดรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง  (ป.กศ. ชั้นสูง) ในวิชาเอกต่างๆสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

                             พุทธศักราช 2522 ได้ขยายฐานการศึกษาระดับปริญญาตรีในโครงการอบรมบุคลากรประจำการ (อคป.) ตามนโยบายของวิทยาลัย

                             พุทธศักราช 2523 ได้ขยายการจัดการศึกษาโดยรับนักศึกษาภาคปกติระดับปริญญาตรี

                             พุทธศักราช 2525 ได้เปิดการสอนตามโครงการอบรมบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ที่จังหวัดชุมพรตามนโยบายของสถาบันที่ต้องการขยายการผลิตบัณฑิตตามความต้องการของท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ

                             พุทธศักราช 2528 เปิดรับนักศึกษาทั้งระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี สาขานอกเหนือจากสาขาครุศาสตร์ ได้แก่ สาขาศิลปศาสตร์และอีกหลายกลุ่มสาขาวิชา

                             พุทธศักราช 2538 ชื่อ “คณะวิชา” เปลี่ยนเป็น “คณะ” ไม่มีคำว่า “วิชา” ต่อท้ายซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏพุทธศักราช 2538

                             พุทธศักราช 2542 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารคณะตามนโยบายของสภาสถาบันราชภัฏ คือยกเลิก “ภาควิชา” ให้มีการรวมกลุ่มอาจารย์ในรูปของคณะกรรมการกลุ่มสาขาวิชารับผิดชอบด้านวิชาการเรียกว่า “กลุ่มสาขาวิชา” และมีสำนักงานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นหน่วยดำเนินงาน

                             พุทธศักราช 2547 สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างดังกล่าว ปัจจุบัน   คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำเนินงานตามพันธกิจ 4 ประการ คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

                             พุทธศักราช 2556 เปิดสาขาวิชาใหม่ คือ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

                             พุทธศักราช 2563 เปิดสาขาวิชาใหม่จำนวน 3 สาขาวิชา คือ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

                             พุทธศักราช 2565 จัดตั้งศูนย์บริการวิชาการท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน

                              พุทธศักราช 2566 จัดตั้งศูนย์วิจัย นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์และศูนย์วิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร